รีวิวหนังสือ เศรษฐศาสตร์ความจน
เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economics) เขียนโดยคุณ Abhijit Banerjee และคุณ Esther Dufflo เล่มนี้ผมได้มาเป็นเวอร์ชันภาษาไทยแปลโดยสำนักพิมพ์ Salt ครับ ก็ตอนได้มาหยิบมาจากงานหนังสือ Winter Bookfest ที่สามย่าน เพราะเห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยหยิบมาอ่าน
ดีใจพอสมควรครับที่เลือกหยิบมา (ผมหยิบเรื่องการเงินคนจนที่วางคู่กันมาด้วยแต่เล่มนั้นยังไม่ได้อ่าน)
สำหรับเศรษฐศาสตร์ความจน สิ่งที่หนังสือเกริ่นเลยตั้งแต่เริ่มคือกับดักความจนมีหรือไม่ โดยเค้าก็ยกตัวอย่างทั้งฝั่งนักวิชาการที่เชื่อในเรื่องของกับดักความจน แล้วก็ยกตัวอย่างของนักวิชาการฝั่งที่ไม่เชื่อในกับดักความจนมาเล่าให้เล่าฟัง
ซึ่งอารมณ์ของหนังสือเล่มนี้ก็จะเป็นแนวนี้ทั้งเล่มครับ คือไม่ได้ฟันธงว่าอะไรเป็นสาเหตุ (เพียงหนึ่งเดียว) ที่ก่อให้เกิดความจนขึ้น
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของคนต่างๆที่มีค่าครองชีพต่อวันไม่ถึง 99 เซนต์ เล่าถึงชีวิตการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆที่พวกเค้าต้องเจอ และเล่าถึงวิธีการแก้ปัญหาต่างๆของแต่ละครัวเรือน ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้วก็ความฉลาดของมนุษย์ในการแก้ปัญหาที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน (ขออนุญาตพยายามไม่ Romanticized ตรงนี้ครับ)
ตัวของหนังสือเองก็แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะเล่าถึงเรื่องที่ออกแนวครัวเรือนหน่อย เช่นว่าปัญหาเรื่องความอดอยากในครัวเรือน ปัญหาเรื่องสุขภาพ ปัญหาเรื่องการศึกษา รวมไปถึงปัญหาเรื่องการวางแผนครอบครัว ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนก็แสดงให้เห็นครับว่าคนจนก็มีปัญหาของคนจน และหลายๆปัญหานี้มันก็ทำให้การยกระดับคุณภาพชีวิตเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้เราจะไม่เข้าใจเลยถ้าไม่ได้ไปอยู่สถานการณ์นั้นจริงๆ หลายๆปัญหาก็เป็นปัญหาต่อเนื่องซ้อนๆกันไปเรื่อยๆ แล้วด้วยความที่ขาดความรู้ก็อาจจะทำให้แก้ปัญหาผิดพลาดไปได้
ผู้เขียนก็ได้เล่าเกี่ยวกับวิธีที่แต่ละชาติใช้แก้ปัญหา ทั้งวิธีที่ประสบความสำเร็จและวิธีที่ไม่ประสบความสำเร็จด้วยครับ
ส่วนที่ 2 นี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันภายนอกที่ทำงานกับคนจน ให้ความช่วยเหลือหรือปล่อยกู้ต่างๆ ซึ่งในหัวข้อนี้ก็เล่าเรื่องต่างๆที่สถาบันอาจจะเข้าไปทำงานได้เช่นว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินของคนจน ที่อาจจะมีไม่มากนัก (micro finance) การปล่อยกู้ให้คนจน (micro credit ในหัวข้อนี้เล่าถึงเหตุผลที่การปล่อยกู้นอกระบบมันต้องมีอยู่ด้วย น่าสนใจมากๆครับ) การออมของคนจน การทำธุรกิจของคนจน รวมไปถึงการเมืองที่แย่ก็อาจจะทำให้การกำจัดความจนเป็นไปได้ยากเนื่องจากปัญหาเชิงนโยบาย
โดยเรื่องต่างๆที่กล่าวไปทั้งหมดก็มีการยกเรื่องราว รวมไปถึงยกสถิติมาประกอบ เจ้าของหนังสือไม่ได้บอกเราตรงๆว่าเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ยังไง แต่ใช้วิธียกตัวอย่างแนวทางต่างๆที่อาจจะทำได้ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ
สำหรับหนังสือเล่มนี้ก็ถือว่าน่าอ่าน แล้วก็อ่านสนุกพอตัวครับ ถ้าใครชอบเรื่องเศรษฐศาสตร์ หรือถ้าไม่ชอบแต่ถ้าอยากเข้าใจคนจน ซึ่งก็เป็นเพื่อนมนุษย์ของเราก็แนะนำให้ไปลองหามาอ่านดูครับ 😄
เล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกของผมที่อ่านจบในปีนี้ครับ ยอมรับว่าอ่านจบมา 2-3 วันแล้วแหละ แต่พึ่งจะมาเขียนรีวิวครับ 😂
ปีนี้ผมตั้งใจจะมาเขียนแชร์หนังสือบ่อยๆ ถ้าใครสนใจก็รอติดตามได้ครับ
สุดท้ายนี้ก็ ช้าไปหน่อยแต่ก็สุขสันต์ปีใหม่ 2021 ครับ 😃